วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

โรคผิวหนังจากการทำงาน


        โรคผิวหนังเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสี่ของประเทศ  เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอย่างแพร่หลาย  หากมีการดูแลการใช้ไม่เหมาะสมจะทำให้ผู้ที่สัมผัสเกิดอาการระคายเคืองและภูมิแพ้ที่ผิวหนัง  อาการลักษณะนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านร่างกายและจิตใจของผู้ที่เป็นโรค  การรักษาโรคผิวหนังนั้นมักจะทำได้โดยการบรรเทาอาการ  และที่สำคัญคือ  ต้องกำจัดสาเหตุ และสภาพที่อาจทำให้เกิดอาการของโรคผิวหนัง
สาเหตุการเกิดโรคผิวหนังจากการทำงาน
        การเกิดโรคผิวหนังจากการทำงาน มีสาเหตุหลัก ดังนี้
        1. สาเหตุจากสารเคมี
        2. สาเหตุจากการสัมผัส การเสียดสีและการกระแทก
        3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
        4. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ
1. สาเหตุจากสารเคมี

        ในอุตสาหกรรมมีการนำสารเคมีมาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าต่างๆ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณว่ามีการใช้สารเคมีมากกว่า 100,000 ชนิด ในอุตสาหกรรมและในจำนวนนี้มีสารเคมีมากกว่า 16,500 ชนิดที่เป็นพิษและสามารถก่อให้เกิดอาการทางผิวหนัง รวมทั้งระบบต่างๆ ของร่างกายด้วย เช่น ระบบประสาท ระบบโลหิตและระบบภูมิแพ้
        โรคผิวหนังจากสารเคมีทำให้เกิดภูมิแพ้ที่รู้จักกันมานานในประเทศอุตสาหกรรม เช่น คนงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ เครื่องหนัง ยาง สีย้อมผ้า กาวพลาสติก เส้นใยแก้ว สีพ่น รวมทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่อง การที่ผิวหนังสัมผัสกับน้ำมันโดยตรงและไม่มีเครื่องป้องกัน จะทำให้ขุมขนอักเสบหรือเกิดผื่นคล้ายสิวบริเวณหน้า แขน ขาและบริเวณอื่นๆ ที่สัมผัสได้ เช่น การใช้น้ำมันเบนซินล้างมือ สารตะกั่วที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบนซินอาจซึมเข้าผิวหนัง เกิดเป็นรอยคล้ำและทำให้เกิดโรคแพ้พิษตะกั่วอินทรีย์ได้ นอกจากนี้ยังเคย พบว่า คนที่ต้องทำงานสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะชุบนิคเกิลเป็นประจำบางคนจะเกิดโรคผิวหนังผื่นแพ้ได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นภูมิแพ้ จะทำให้ผิวหนังแพ้ง่ายเกิดเป็นน้ำเหลืองบริเวณที่สวมใส่เครื่องประดับของเทียมทำด้วยโลหะชุบนิคเกิล เช่น ตุ้มหู สร้อยคอ หัวเข็มขัด เป็นต้น
งานอุตสาหกรรมในครัวเรือน อาจมีการแพ้กาวพลาสติกในการทำดอกไม้พลาสติก ทำเครื่องหนัง แม้แต่งานดอกไม้สดก็อาจแพ้ยางของดอกไม้ได้ เช่น ดอกรัก และดอกมะลิ เป็นต้น
        สำหรับงานด้านเกษตรกรรม การใช้ปุ๋ย สารกำจัดแมลงหรือสารกำจัดศัตรูพืชล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและผื่นคันที่ผิวหนังได้หากสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรงโดยไม่มีเครื่องป้องกัน
2. สาเหตุจากการสัมผัส การเสียดสีและการกระแทก

        การเสียดสีหรือจับต้องกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเป็นประจำ เช่น เส้นใยแก้วและเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้ทำฉนวนต่างๆ เมื่อสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน เมื่อเกาอาจทำให้ผิวหนังเกิดบาดแผลหรือรอยถลอก มีโอกาสติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

        การได้รับความร้อน ความเย็น แสงอาทิตย์ รังสีเอกซ์-เรย์ และรังสีแตกตัวอื่นๆ ที่มากเกินไป สามารถทำให้เกิดอันตรายที่ผิวหนังได้ เช่น
ทำให้ผิวหนังไหม้ อักเสบ แสบ ลอก และอาจเกิดมะเร็งที่ผิวหนังได้
4. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ

        สารชีวภาพจำพวก แบคทีเรีย รา และปรสิต เช่น เห็บและไร ซึ่งจะทำลายผิวหนังทำให้เกิดอาการคัน โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา และที่พบบ่อยในคนไทย คือ โรคกลากเกลื้อน โดยสาเหตุจากการทำความสะอาดร่างกายไม่เพียงพอ บริเวณที่พบบ่อยมักจะเป็นบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ขาหนีบ เล็บ ศีรษะ ง่ามมือ และง่ามเท้า นอกจากนี้ คนที่มีอาชีพที่มือต้องเปียกชื้นตลอดเวลา เช่น ขายอาหาร ขายผัก น้ำจะโดนเล็บทำให้เล็บเปื่อย เกิดอาการอักเสบบวมแดง อาจมีหนองและติดเชื้อราชนิดยีสต์ได้
        พืชมีพิษ จัดเป็นสารชีวภาพชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น เถาวัลย์มีพิษและไม้โอ๊คมีพิษ พืชบางชนิดเมื่อสัมผัสจะทำให้เกิดผื่นแดง อักเสบ และเกิดภูมิแพ้ที่ผิวหนังได้
การป้องกันโรคผิวหนังจากการทำงาน
        วิธีการป้องกันโรคผิวหนังจากการทำงาน มีดังนี้
        1. การใช้สารเคมีที่ปลอดภัยที่สุด
        2. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง
        3. การใช้อุปกรณ์ป้องกันผิวหนัง
        4. การทำความสะอาดผิวหนังอย่างเหมาะสม
        5. การดูแลเอาใจใส่ผิวหนัง
1. การใช้สารเคมีที่ปลอดภัยที่สุด
        โดยการเลือกชนิดของสารเคมี ที่มีคุณสมบัติใช้ในงานได้ตามต้องการ แต่ต้องเป็นสารเคมีที่มีโอกาสก่อให้เกิดโรคผิวหนัง ตลอดจนปัญหาสุขภาพอื่นๆ น้อยที่สุด
2. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง
        โรคผิวหนังจากการทำงาน เป็นการอักเสบชนิดหนึ่ง สาเหตุมาจากสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้วัตถุที่มาสัมผัสผิวหนัง
        ผิวหนังที่เกิดปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการภูมิแพ้ อาการที่เกิดขึ้นมักจะคล้ายๆ กัน เริ่มแรกจะมีอาการแดงและบวม ต่อมาจะเป็นตุ่มพอง มีหนอง ตกสะเก็ด และหนาด้าน
การระคายเคืองที่ดวงตาหรืออาการบวมแดงรอบดวงตา เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นว่าเริ่มมีการระคายเคืองหรืออาการภูมิแพ้สารที่อยู่ในรูปฝุ่นหรือไร
        สารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง จะทำลายผิวหนังที่มีโอกาสสัมผัสสารซ้ำๆ หรือบ่อยๆ เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้อาจเป็นสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนอย่างรุนแรง เช่น กรดหรือด่าง ซึ่งสามารถทำลายผิวหนังหลังจากถูกสารในระยะเวลาเล็กน้อย หรืออาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างช้าๆ เช่น สารตัวทำละลาย น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันอื่นๆ จะทำอันตรายผิวหนังหากสัมผัสติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
        สิ่งสกปรกและฝุ่น หากรวมตัวกับน้ำมันและจาระบีแล้วจะเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองแบบเรื้อรังได้ สำหรับบางคนที่เคยมีประวัติเป็นโรคผิวหนัง ผื่นแพ้ ไข้ละอองฟาง หอบหืด หรือคนที่มีผิวแห้ง จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคผิวหนังจากการทำงานได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป
        สารที่ทำให้เกิดอาการโรคผิวหนังภูมิแพ้ มักพบในผู้ที่สมัยเด็กเคยเป็นโรคผิวหนัง ไข้ละอองฟาง หอบหืด หรือเคยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเคยมีโอกาสสัมผัสกับสารและผิวหนังแสดงอาการภูมิแพ้มาแล้ว หากมีโอกาสสัมผัสอีก ร่างกายจะแสดงอาการภูมิแพ้อีก วิธีการแก้ไข คือ ต้องหยุดสัมผัสสารนั้น จนกว่าอาการจะหาย
        สารที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ต่อผิวหนังที่รู้จักกันดี คือ นิคเกิล ยาง โครเมียม เรซิน และพลาสติกบางชนิด เป็นต้น
ขั้นแรกในการป้องกันโรคผิวหนังที่ได้ผลเป็นรูปธรรม คือ การให้ผิวหนังหยุดสัมผัสสิ่งที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือภูมิแพ้ โดยเลือกใช้สารที่อันตรายน้อยกว่าแทนการออกแบบหรือปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีโอกาสสัมผัสกับสารต่างๆ ให้น้อยที่สุด การแก้ไขเครื่องจักรหรือการเลือกใช้เครื่องมือที่สามารถทำงานโดยส่วนของร่างกายไม่เปียกชื้นหรือเปรอะเปื้อนสาร หมั่นทำความสะอาดพื้นและบริเวณที่ทำงานเป็นประจำ สามารถช่วยลดปัญหาโรคผิวหนังจากการทำงานได้
การเลือกใช้ครีมทาผิวหนัง
1. ครีมทาป้องกัน (Barrier Cream) ใช้ป้องกันสารระคายเคือง และช่วยให้ทำความสะอาดมือง่ายขึ้น แต่ใช้ป้องกันสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังภูมิแพ้ไม่ได้ เนื่องจากมีความเหนียวเหนอะหนะ คนงานไม่ชอบใช้
2. ครีมให้ความชุ่มชื้น (Moisturisers) ใช้ทาผิวช่วยลดความแห้งตึงของผิวหนังช่วยป้องกันผิวหนังได้บ้างกรณีคนงานไม่ชอบใช้ครีมทาป้องกันผิวหนัง (Barrier Cream) อย่างไรก็ตาม ครีมให้ความชุ่มชื้นนี้ก็ช่วยให้การทำความสะอาดมือง่ายขึ้นด้วย
3. การใช้อุปกรณ์ป้องกันผิวหนัง เมื่อมีการใช้สารตัวทำละลาย น้ำมัน ฝุ่น สิ่งสกปรก สารซักฟอก หรือสารเคมีต่างๆ ซึ่งมีโอกาสถูกผิวหนังควรจะป้องกันโดยใช้ถุงมือ ผ้ากันเปื้อนหรือชุดทำงานต่างๆ การเลือกใช้ชนิดของอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงานเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เมื่อทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีประเภทกรดและสารตัวทำละลาย ให้เลือกใช้ถุงมือที่ทำจากวัสดุพีวีซี ยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ หรือพีวีเอ ทั้งนี้การเลือกใช้ควรพิจารณาถึงคุณสมบัติในการซึมผ่านของสารที่แตกต่างกัน ส่วนวัสดุจำพวก ฝ้าย หนังสัตว์ ขนสัตว์ ผ้าใบหรือใยสังเคราะห์มีคุณสมบัติป้องกันการเสียดสีหรือความร้อนได้ในระดับที่ต่างกัน
        หลังจากการเลือกอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีที่ถูกต้องแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเก็บรักษาให้สะอาดและอยู่ในสภาพดี อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีที่ชำรุดหรืออุ้มสารเคมีอันตรายไว้ในเนื้อวัสดุไม่ควรนำมาใช้ เพราะว่าไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ทำให้คนงานละเลยอาการเริ่มแรกของโรคผิวหนัง หากข้างในถุงมือสกปรกและคนงานยังคงใช้ การสวมใส่ครั้งต่อไปจะสัมผัสกับสารเคมีตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือภูมิแพ้ได้ ดังนั้น การหมั่นเปลี่ยนและทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นมาตรการป้องกันที่ดีที่สุด
หลักการพื้นฐานในการทำความสะอาดมือ

        1. การใช้ครีมทาป้องกัน (Barrier Cream) ทามือทำให้สามารถทำความสะอาดมือได้ง่ายและเร็ว แต่ครีมป้องกันไม่สามารถป้องกันการระคายเคืองได้มากเท่าที่ควรและไม่ควรนำมาใช้ป้องกันสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ 

        2. เลือกสารทำความสะอาดที่เหมาะสม (ห้ามใช้สารตัวทำละลายและสารขัดผิว) ควรใช้ทำความสะอาดผิวมือให้หมดจด 

        3. หลังจากใช้สารทำความสะอาดต่างๆ แล้วให้ล้างด้วยน้ำสะอาด 

        4. ควรใช้สารหรือครีมให้ความชุ่มชื้นต่อผิวหนัง ทาหลังจากล้างผิวด้วยน้ำสะอาดแล้ว เพื่อชดเชยไขมันที่สูญเสียไปและช่วยให้ผิวหนังไม่แห้ง
4. การทำความสะอาดผิวหนังอย่างเหมาะสม หลายอาชีพที่ผิวหนังต้องเปรอะเปื้อนกับสารเคมี น้ำมัน และสิ่งสกปรกต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สารเคมีที่มักใช้บ่อย เช่น กรด ด่าง สารตัวทำละลาย ขี้ผึ้ง และน้ำมันดิน สารเหล่านี้จะขจัดให้น้ำมันและไขมันธรรมชาติจากผิวหนังออกไป จากนั้นผิวหนังจะแห้งและแตก และเริ่มเกิดโรคผิวหนังขึ้น ในสภาวะนี้ หากผิวหนังถูกฝุ่น เศษโลหะหรือเศษผงต่างๆ เสียดสีผิวหนังอีก จะทำให้อาการของโรคผิวหนังจะยิ่งมากขึ้น
ผิวหนังที่เปื้อนสารเคมี หากมีการทำความสะอาดที่เหมาะสม จะขจัดสารที่เป็นอันตรายออกโดยไม่ทำให้ผิวหนังแห้ง แตก รวมทั้งไม่เป็นโรคผิวหนังได้
        การทำความสะอาดผิวหนังต้องนุ่มนวลและทั่วถึง น้ำมัน จาระบี และการรวมตัวของสิ่งสกปรกอื่นๆ ต้องขจัดออก เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นสาเหตุของการอุดตันของขุมขน ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยจะเกิดในรูปของสิวหัวดำและตุ่มเล็กๆ
ไม่ควรใช้ตัวทำละลายพวกน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันก๊าด และทินเนอร์ในการล้างผิวหนังที่เปื้อนน้ำมันและจาระบี เพราะสารเหล่านี้จะทำให้ผิวหนังแห้งมากเกินไป ไม่ควรใช้สบู่ที่ใช้สำหรับขัดผิวมาล้างผิวหนัง เพราะจะทำให้ผิวหนังแตกและเกิดการระคายเคือง วิธีการทำความสะอาดที่ถูกต้อง คือ การใช้น้ำอุ่นชำระล้างนานๆ ใช้สบู่ที่ไม่มีสารขัดผิวและใช้แปรงนุ่มๆ ทำความสะอาด
        คนงานควรจะให้ความสำคัญในการเลือกสิ่งที่ใช้ในการทำความสะอาดผิวหนังโดยให้ตรงกับชนิดของสารที่สัมผัส พาราฟิน สารตัวทำละลาย ดินเหนียว และปูนปลาสเตอร์ต้องใช้สารทำความสะอาดอย่างหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการใช้น้ำหรือสารเคมีผสมน้ำก็ต้องใช้สารทำความสะอาดอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สารทำความสะอาดที่ใช้ทั้งหมดควรมีสภาพเป็นกรดที่ใกล้เคียงกับผิวหนัง คือ pH 6.5
ถ้าผิวหนังสัมผัสกับสิ่งสกปรกซ้ำๆ ควรพิจารณาถึงการเปลี่ยนวิธีการทำงาน การใช้สารเคมีที่ปลอดภัยกว่าแทน และการใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม
        หากจำเป็นต้องใช้ผงซักฟอกทำความสะอาดผิวหนัง ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดให้หมดจดและใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง เพื่อป้องกันผิวหนังแห้งเกินไปเนื่องจากการทำความสะอาด
5. การดูแลเอาใจใส่ผิวหนัง น้ำมันที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นกำแพงป้องกันผิวหนังโดยธรรมชาติ มักจะถูกขจัดออกโดยการชำระล้างขณะทำงาน อย่างไรก็ตาม อาจทดแทนโดยการใช้ครีมทาป้องกัน (Barrier Cream) ก่อนทำงาน และหลังจากทำงานแล้ว เมื่อล้างทำความสะอาดผิวหนังแล้ว จึงทาครีมที่ไม่มีสารก่อให้เกิดผื่นแพ้ต่อผิวหนัง (non-sensitizing hydrophilic cream) หากไม่สามารถใช้ครีมป้องกันได้ก็ควรใช้ครีมที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง
        ถ้าหากมีการระคายเคืองหรือผดผื่นเกิดขึ้น ต้องให้ความสนใจและรักษาให้เร็วที่สุดที่เห็นได้ชัด คือ ผดผื่นทั้งหลายที่เกิดขึ้นมักไม่เกี่ยวกับอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ธรรมชาติของงาน สารที่สัมผัส และคนอื่นๆ ที่ทำงานเหมือนกัน มีอาการเหมือนกัน เป็นข้อมูลที่จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานหรือแพทย์ประจำโรงงานทราบ เพื่อจะได้จัดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคได้ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
       การเป็นโรคผิวหนังโดยลำพังอาจไม่มีอาการมากมายจนน่ารังเกียจ แต่กรณีที่ผิวหนังแห้ง แตก เป็นแผล และติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้โรคลุกลามมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่คนงานทั้งกลุ่มเป็นโรคผิวหนัง เนื่องจากการที่แต่ละคนสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือภูมิแพ้เหมือนกัน จะต้องมีการปฐมพยาบาลทันทีเพื่อป้องกันและยับยั้งการติดเชื้อต่อไป การทำความสะอาดบาดแผล ปิดด้วยผ้าที่สะอาดให้สนิทและหลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าเชื้อที่รุนแรงทำให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นหลักการที่สำคัญ

ขอขอบคุณที่มาจาก
ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.google.com



7 โรคผิวหนังที่แฝงมากับลมหนาว

โรคผิวหนัง ที่ควรระวัง

          โรคผิวหนัง ที่ควรระวัง เมื่อย่างเข้าสู่การผลัดเปลี่ยนฤดูอากาศหนาวสลับกับร้อนเช่นนี้คือตัวการที่นำไปสู่อาการเจ็บป่วยได้สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงให้คำแนะนำเพื่อเป็นความรู้แก่ประชาชนสำคัญที่ควรระวังดังนี้
1.โรคสุกใส หรือ บางคนเรียกอีสุกอีใส

       ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่แล้วมักจะมีอาการรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็ก โรคสุกใสเกิดจากจากเชื้อไวรัส ชื่อVaricella virus ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง และการสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย ในขั้นแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และต่อมาจะเริ่มมีเป็นตุ่มน้ำ ใสๆเหมือนหยดน้ำขึ้นตามตัว ถ้าเป็นแล้วต้องระวังแบคทีเรียแทรกซ้อน และถ้าเป็นในผู้ใหญ่ต้องห้ามแกะเกาเด็ดขาดเพราะจะเป็นหลุมแผลเป็นได้ง่าย
2.โรคงูสวัด 

        เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดสุกใส (Varicella virus) จะเกิดในผู้ที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหาย เชื้อไวรัสจะหลบเข้าไปในปมประสาทรับความรู้สึกโดยจะอยู่แบบไม่แบ่งตัว เมื่อร่างกายอ่อนแอ ไวรัสที่แฝงอยู่จะก่อให้เกิดอาการไข้และปวดรุนแรงตามแนวยาวของปมประสาท โดยจะพบเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสเป็นแนวด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แต่จะไม่พันรอบตัว อย่างที่หลายคนเชื่อกัน มักจะมีอาการปวดแปล๊บบนบริเวณปลายประสาทร่วมด้วย
3.โรคเริม 

        เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม HERPES (Hsv–1/Hsv-2) เริมจะมีลักษณะเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำขนาดเล็ก มีขอบแดง แต่ไม่เรียงตามแนวเส้นประสาท พบได้บ่อยที่บริเวณริมฝีปาก อวัยวะเพศ และก้น การติดเชื้อครั้งแรก มักจะมีไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงมีอาการอักเสบ ผู้ที่เคยเป็นโรคเริมแล้ว จะมีโอกาสเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมได้บ่อย โดยมีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดซ้ำ คือภาวะเครียด ภูมิต้านทานร่างกายต่ำลง พักผ่อนไม่เพียงพอ ใกล้มีประจำเดือน หรือถูกแสงแดดจัด เริมสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผล และการมีเพศสัมพันธ์
4.โรคหัด 

        มักเป็นในเด็กอายุ 1 ปี จนถึงระดับประถมศึกษา โดยมักมีอาการไข้สูง ไอมาก ตาแดง คล้ายเป็นหวัด ต่อมามีผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ขึ้นทั่วตัว แขน และขา โรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ การป้องกันโรคหัด คือต้องรักษาสุขภาพให้ดีในฤดูหนาว อากาศเย็นควรใส่เสื้อผ้าหลายชั้น แต่วิธีป้องกันที่ดีที่สุดและเด็กทุกคนควรทำ คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด
5.โรคหัดเยอรมัน 

        ผู้ป่วยมักมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้น จะมีผื่นขึ้นที่หน้า คอ ลำตัว แขนและขา ผื่นมักขึ้นเต็มตัวภายในระยะเวลา 1 วัน และมีต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นมักจะหายไปเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่ติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นในเด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันตามเกณฑ์เพื่อป้องกันการเกิดโรค ที่สำคัญคือถ้าสตรีเป็นขณะตั้งครรภ์จะทำให้ทารกพิการได้
นอกจากโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสแล้ว โรคผิวหนังอักเสบที่อาจจะกำเริบช่วงหน้าหนาว ได้แก่
6.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) 

     เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีโอกาสเกิดมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันผิวหนังรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะเกา ซึ่งการเกาอาจจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อตามมา ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักจะมีลักษณะผื่นเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก มักเป็นที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ
7.โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheic dermatitis)

        มีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ดเป็นมัน ขอบเขตชัดเจน ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู และหนังศีรษะ เนื่องจากอากาศในฤดูหนาวทำให้ผิวแห้ง จึงทำให้ผื่นชนิดนี้มีโอกาสเกิดได้มากขึ้นถึงแม้ว่าโรคบางชนิดจะเป็นโรคทางอายุกรรม ซึ่งบางโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ทั้ง 7 โรคจะมีความเกี่ยวข้องกับผิวหนังทั้งสิ้น ดังนั้นทุกคนควรพึงระวังใส่ใจกับตัวเองสักนิด อากาศช่วงฤดูหนาวมักมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยอยู่เสมอ จึงควรทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมาก ๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อมีการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงวันหยุดยาว ๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ต้องระวังสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด

ขอขอบคุณที่มาจาก
สมาคมแพทย์ผิวหนัง
ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.google.com


4 โรคผิวหนังควรระวังที่มากับหน้าฝน


    ในแต่ละปีเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ประเทศไทยมักจะประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมอยู่เสมอ แทบจะทั่วทุกภาคของประเทศ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาของโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วมและน้ำท่วมขังตามที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ รวมถึง เรื่องของแมลงและสัตว์มีพิษต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย
1.โรคน้ำกัดเท้า 

       ถือเป็นอันดับ 1 ของโรคที่มากับน้ำท่วม เรียกเดิม ๆ ว่า ฮ่องกงฟุต น้ำกัดเท้า คือ การติดเชื้อรา ในกลุ่มเดียวกันกับโรคขี้กลาก (Tinea) ซึ่งได้แก่ เชื้อราในสายพันธุ์ Dermatophytes ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น บนพื้นที่เปียกชื้น จากการลุยน้ำท่วมขังรองเท้า พื้นห้องอาบน้ำหรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ เชื้อราจึงเข้าสู่ผิวหนังและก่อให้เกิดโรคน้ำกัดเท้าได้
     อาการในระยะแรก ๆ เชื้อราจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อผิวหนังเกิดการระคายเคือง ซึ่งสังเกตง่าย ๆ ผิวหนังจะแห้ง ๆ ย่น ๆ  เริ่มมีอาการคัน มีสีแดง บางครั้งเริ่มมีตุ่มน้ำบริเวณตรงซอกนิ้วเท้า หรือตรงซอกเท้า เป็นสีขาว ๆ และเริ่มเป็นแผล  ผิวหนังจะแห้ง ตกสะเก็ด แตกเป็นร่อง แผลสด บวม เจ็บและคัน บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ อาการที่เพิ่มขึ้นจะอักเสบบวมแดง ร้อน หรือเป็นหนอง ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้นตามลำดับ
      การรักษาโรคน้ำกัดเท้า จะต้องหมั่นทำความสะอาดเท้า ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและใช้แป้งโรยที่เท้าได้  เพื่อไม่ให้อับชื้น หรือถ้าต้องย่ำน้ำควรทาโลชั่น วาสลีน ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคือง และล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทุกครั้ง แต่เมื่อเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว จะต้องรักษาด้วยยารักษาเชื้อราเฉพาะที่ อาจจะเป็นยาทา ประเภทครีม เจล  ขี้ผึ้ง หรือสเปรย์ ซึ่งโรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาให้หายขาดหรืออาจจะต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่อันตราย แต่หากไม่รักษาอาการอาจเกิดอาการเรื้อรังเป็นเดือนหรือหลายเดือนได้  ที่สำคัญอย่าทายาแก้แพ้ ที่มีสเตอรอยด์เพราะ จะทำให้ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ
2.โรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ 

       หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสังคัง มักเกิดจากการเป็นเชื้อราที่เท้า แล้วเวลาสวมกางเกงในจะนำเชื้อราที่เท้าไปสัมผัสขาหนีบ มักมีอาการคันมาก โรคนี้เป็นได้ทั้งเพศชายและหญิงอากาศร้อนชื้น จึงทำให้บริเวณใต้ร่มผ้าอย่างบริเวณขาหนีบเกิดความอับชื้นได้ง่าย จนกลายเป็นผดผื่นแดง และมีอาการคันตามมา ทั้งนี้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา เชื้อราก็อาจจะลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ก็เป็นได้
ลักษณะอาการของหลายๆ คนที่เป็นมักจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเกาอยู่ตลอดเวลา และยิ่งเกามาก ๆ ผิวหนังก็จะยิ่งถลอก กลายเป็นว่าปวดแสบปวดร้อนไปซะอีก นอกจากจะทรมานแล้ว ยังทำให้เสียบุคลิกอีกด้วย สำหรับยาที่รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ มักจะเป็นยาประเภท Ketoconazole หรือ Clotrimazole โดยให้ทาบริเวณที่เป็นผื่นทุกเช้าเย็นหลังอาบน้ำ  ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะค่อยๆ หายไปเอง  แต่หากทายาแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจและรักษาทันที ทั้งนี้แพทย์อาจจะให้ยามารับประทานหรือให้ยาตัวใหม่มาทา ซึ่งก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเมื่ออาการค่อย ๆ ทุเลาลงแล้ว แนะนำให้ทานยาหรือทายาต่ออีกสักระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรากลับมาเป็นซ้ำอีก อย่างไรก็ตามโรคผิวหนังบางอย่าง อาจเกิดจากเชื้อยีสต์ บางคนเกิดอาการแพ้บริเวณใต้ราวนม มีอาการผื่นแดง  คัน ที่เกิดจากการอับชื้นในร่มผ้า
3. โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) 

       จะมีลักษณะผิวหนังเป็นรู ๆ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบบ่อยในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ชอบใส่ถุงเท้าอับนาน ๆ มีเหงื่อออกมาก มักจะเป็นโรคนี้ บางครั้งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำ เมื่อเท้าเปียกจนชื้นจากเหงื่อหรือน้ำที่เจิ่งนอง จะทำให้ผิวหนังยุ่ยและติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วก็โชยกลิ่นเหม็นออกมา  ลักษณะของอาการที่พบบ่อยเกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรียแกรมบวก เห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ ที่เท้า บางครั้งเห็นเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ ที่ฝ่าเท้า มีน้ำเหลืองซึม และเท้ามีกลิ่นเหม็นมาก เวลาถอดถุงเท้า นอกจากได้กลิ่นเหม็นแล้ว ยังรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้าแบคทีเรียบางตัว เช่น Aeromonas hydrophila อาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลามทั้งเท้าและขาจนถึงขั้นเสียชีวิต
4.โรคฉี่หนู ไข้ฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)  

        เป็นอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต เชื้อชนิดนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเป็นโรครับจากสัตว์ชนิดหนึ่ง สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น แต่พบมากในหนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน มักจะพบการระบาดในช่วงฤดูฝนต่อจนถึงในฤดูหนาว และในพื้นที่ ๆ มีน้ำท่วมขัง  เชื้อแบคทีเรียจะผ่านเข้าไปทางแผลหรือคนที่มีบาดแผล แล้วไปเดินลุยน้ำ  อาการจะมีไข้หรือปวดเมื่อยตามตัวค่อนข้างมาก  ซึ่งเมื่อเกิดอาการดังกล่าวให้รีบไปหาแพทย์โดยทันที  ส่วนวิธีการป้องกันโรคฉี่หนู ง่าย ๆ คือการใส่รองเท้าบูธ หรือหุ้มเท้าด้วยถุงพลาสติก
         โรคฉี่หนู ติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ  เช่น  การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป  การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และเข้าผ่านเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา ปาก หรือไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน บางครั้งเชื้อชนิดนี้สามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือน หลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อโดยจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์

      อาการของโรคเล็ปโตสไปโรซิสนั้น  เริ่มตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต โดยกว่า 90  เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะมีอาการเล็กน้อยและมักเป็นแบบไม่เหลือง ส่วนเล็ปโตสไปโรซิสที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ โรคฉี่หนูจะแพร่กระจายและเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงปลายฤดูฝน พบบ่อยในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน เพราะช่วงนี้พื้นดินแฉะ มีน้ำขัง เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและสะสมของเชื้อในธรรมชาติ พบโรคนี้ได้มากตามจังหวัดที่ทำการปลูกข้าว บริเวณที่ต้องย่ำน้ำ หรือแหล่งน้ำขังที่มีพาหะนำโรคชุกชุม อาจรวมถึงบ่อน้ำขนาดใหญ่ด้วย
          ส่วนวิธีการรักษานั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน โดยชนิดของยาปฏิชีวนะจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ 

ขอขอบคุณที่มา http://www.thaihealth.or.th/Content
ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.google.com


6 โรคผิวหนังที่มาพร้อมกับหน้าร้อน



     เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาโรคต่างๆ หนึ่งในโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม คือโรคผิวหนัง จากข้อมูลของสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ พบว่า ในช่วงฤดูร้อนโรคผิวหนังที่พบบ่อย ได้แก่ 
1.ผด 

       เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้เหงื่อออกมาก เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบของรูขุมขน เกิดผดเม็ดเล็กๆ แดงๆ หรือเป็นเม็ดใสๆ พบมากในเด็กเล็กโดยที่ผดมักขึ้นรอบๆ คอ หน้าผาก ส่วนผู้ใหญ่มักเป็นที่คอ เนื่องจากใส่เสื้อคอปิด ใส่สร้อย จะทำให้อับเหงื่อจนเกิดอาการคัน 
2.ผิวไหม้แดด

       โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน มักนิยมไปเที่ยวสงกรานต์ ไปชายทะเล จะตากแดดกันมาก ทำให้ผิวไหม้แดดและลอก ผิวจะดำคล้ำขึ้น 
3.กลาก 
       มักพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ มีอาการคัน หากมีเชื้อราเข้ามาร่วมด้วย ผื่นจะขยายเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน มีขุย และมีอาการคันมาก


4.เกลื้อน
       พบมากในผู้ที่ใส่เครื่องแบบ ใส่เสื้อผ้ารัดมากๆ หรือต้องใส่เสื้อสองชั้นจะเกิดเกลื้อนซึ่งมีลักษณะเป็นวงขาวๆ วงแดงๆ หรือวงดำๆ ซึ่งมักเกิดกับผู้เล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมากแล้วไม่ได้อาบน้ำทันที ปล่อยให้ความชื้นหมักหมมมีเหงื่อขังจะเกิดเชื้อราขึ้น มักเกิดบริเวณหลัง หน้าอก ท้อง และในบริเวณร่มผ้า
5.ภูมิแพ้ผิวหนัง 

       ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ในหน้าร้อนถ้าเหงื่อออกมากจะมีผื่นคันบริเวณคอ ข้อพับ แขน ขา ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อน อับหรือมีฝุ่นละอองมาก เนื่องจากจะทำให้คันมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องประดับที่ทำจากสารนิกเกิลเพราะจะทำให้ผิวหนังอักเสบเกิดผื่นแพ้ได้
6.กลิ่นตัว 

       อากาศร้อนทำให้เหงื่อออกมาก เมื่อเหงื่อออกมากกลิ่นตัวยิ่งแรงสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคผิวหนังในฤดูร้อน คือเด็กเล็ก ผู้ที่ต้องทำงานตากแดดเป็นเวลานาน ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆหรือเสื้อผ้าอับชื้น นักกีฬากลางแจ้ง ผู้ที่นิยมกิจกรรมนอกสถานที่ เช่น เที่ยวทะเล อาบแดด ตีกอล์ฟฯลฯ และผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ดังนั้นควรดูแลรักษาตนเองจากโรคผิวหนังในหน้าร้อน ด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณที่มีแสงแดดเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรใส่เสื้อแขนยาว กางร่มและใส่แว่นกันแดด ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ถ้าอยู่ในที่ร่มไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาและรัดเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นเหงื่อ เกิดผดผื่นคันได้ ในหน้าร้อนควรสระผมบ่อยๆ เนื่องจากศีรษะที่อับชื้นเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราที่ศีรษะได้
       หากต้องใส่รองเท้าที่ปกปิดมิดชิด ควรถอดออกบ้างเมื่อนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน หากเท้ามีเหงื่อออกมากให้หายาระงับไม่ให้เหงื่อออกมากเกินไป หรือโรยแป้งไว้ระหว่างนิ้วเท้าเพื่อขับเหงื่อ ควรเปลี่ยนรองเท้าบ่อยๆ และนำไปผึ่งตากแดดเพื่อดับกลิ่นและฆ่าเชื้อโรค สำหรับผู้ที่แพ้โลหะไม่ควรใส่เครื่องประดับที่ทำจากนิกเกิล เพราะเมื่อเหงื่อออกจะทำให้นิกเกิลละลายออกมา ทำปฏิกิริยากับผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบหรือเกิดผื่นแพ้ หากมีเหงื่อออกมากควรอาบน้ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด ฉะนั้น หากปฏิบัติตามคำแนะนำจะสามารถห่างไกลโรคผิวหนังที่มากับฤดูร้อนได้


ขอขอบคุณที่มา : http://www.safetylamphun.com/
ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.google.com

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

นวัตกรรมน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น


น้ำมันมะพร้าว คืออะไร 
          น้ำมันมะพร้าวก็คือ น้ำมันที่ได้จากผลมะพร้าวนั่นเอง โดยนำมาสกัดแยกน้ำมันออกจากเนื้อมะพร้าวด้วยวิธีสกัดเย็น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความร้อนสูง และไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี น้ำมันที่ได้จึงมีลักษณะใสเหมือนน้ำ ไม่มีกลิ่นหืน อาจมีชิ้นเนื้อมะพร้าว และกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของมะพร้าวปนมาด้วย เพราะเหตุนี้เอง น้ำมันมะพร้าวจึงมีชื่อเรียกหลายชื่อ ทั้งน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Extra Virgin Coconut Oil) น้ำมันมะพร้าวบีบเย็น น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็น 
          น้ำมันมะพร้าวเป็นของเหลวก็จริง แต่ก็สามารถกลายสถานะเป็นของแข็งได้ โดยน้ำมันมะพร้าวจะมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส และกลายสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่เราสามารถทำให้มันเป็นของเหลวได้อย่างง่ายโดยใช้ความร้อนเพียงเ­ล็กน้อย 
          ในน้ำมันมะพร้าวนั้นประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90% จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่กรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ที่พบในน้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) 
น้ำมันมะพร้าวที่ดี สังเกตยังไง 
น้ำมันมะพร้าวที่วางขายกันทั่วไปอาจมีหลายยี่ห้อ ทำให้เราตัดสินใจเลือกไม่ถูกว่าแบบไหนดีกว่ากัน เรามีวิธีการสังเกตน้ำมันมะพร้าวที่ได้คุณภาพมาฝากค่ะ 
          * ต้องมีความใส ไม่มีสี ลักษณะโปร่งแสง ไม่มีการตกตะกอน แต่การสังเกตจากข้อนี้อาจไม่ชัดเจน เพราะบางยี่ห้อก็บรรจุในขวดพลาสติกขุ่น หรือมีสี แต่ถ้าบรรจุขวดแก้วก็จะสังเกตได้ง่ายกว่า 
          * ต้องมีกลิ่นหอมของมะพร้าว ไม่มีกลิ่นหืน หรือเปรี้ยว แม้ว่าจะมีการเปิดใช้หลายครั้งแล้ว แต่ด้วยกระบวนการผลิตในบางยี่ห้อ อาจมีการดัดแปลงโดยใช้น้ำหอมสังเคราะห์กลิ่นมะพร้าว หรือกลิ่นมะพร้าวน้ำหอมเข้าไป ทำให้มีกลิ่นหอมมากในตอนเปิดขวดแรก ๆ แต่หลังจากนั้นความหอมจะจางลง กลายเปลี่ยนเป็นเหม็นเปรี้ยว ซึ่งจะทำให้อายุของน้ำมันมะพร้าวอยู่ได้ไม่นาน 
          * ต้องความหนืดน้อย สามารถกลืนลงคอได้อย่างง่ายดาย มีความรู้สึกเหมือนละลายในปาก ไม่ให้ความรู้สึกเลี่ยน หรือเมื่อนำไปทาผิวแล้ว สามารถซึมสู่ผิวได้เร็ว ไม่ทิ้งคราบน้ำมันลอยอยู่บนผิว 
ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็น
บำรุงสุขภาพ กินน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไขข้อ
นำน้ำมันมะพร้าวมาหมักผมก็จะช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ผมดกดำ สวยเงางามอย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งช่วยบำรุงผมเสีย แก้ปัญหาผมร่วง ผมแตกปลาย ด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมผมตอนแห้ง ทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วสระออก จะทำให้เส้นผมนุ่มสลวยไม่พันกัน เส้นผมตรงมากยิ่งขึ้น ป้องกันผมหงอกได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยรักษารังแคและเชื้อราบนหนังศีรษะด้วย ทำเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยชโลมผมด้วยน้ำมันมะพร้าวทิ้งไว้ 30 นาที แล้วสระออกด้วยแชมพู

น้ำมันมะพร้าวใช้ทาช่วยแก้อาการผิวแห้ง ผิวแตก ผิวลอก ผิวเป็นขุยได้ ใช้ทาผิวเพื่อป้องกันรอยหมองคล้ำจากแสงแดด และยังป้องกันโรคมะเร็งจากแสงแดดได้อีกด้วย

แก้ปัญหาส้นเท้าแตก ด้วยการทาน้ำมันมะพร้าวและนวดคลึงทุกวันก่อนนอนติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์

ใช้เป็นคลีนซิ่งออยล์ทำความสะอาดผิว และยังมีส่วนช่วยในการผลัดเซลล์ผิว จึงช่วยทำให้ผิวใสอย่างเป็นธรรมชาติ โดยใช้น้ำมันมะพร้าวหยดบนสำลีพอประมาณแล้วเช็ดให้ทั่วใบหน้า สามารถใช้เช็ดรอบดวงตา พวก อายแชโดว์ อายไลเนอร์ มาสคาร่า และลิปสติกริมฝีปากได้หมดเกลี้ยง สำหรับผู้ที่แต่งหน้าสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวเช็ดทำความสะอาดได้ 2 รอบเพื่อความสะอาดอย่างหมดจด เมื่อเช็ดด้วยน้ำมันมะพร้าวทั่วทั้งใบหน้าแล้วให้ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีจึงล้างออกด้วยสบู่ หลังจากนั้นซับหน้าให้แห้ง

ใช้ทาหน้าบางๆ ก่อนนอนแทนครีมบำรุงผิว จะช่วยบำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื้น ลดริ้วรอย ฝ้า กระ จางลง แนะนำให้ใช้เฉพาะตอนกลางคืนหรือช่วงก่อนเข้านอน
มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติเป็นเลิศที่ไม่มีน้ำมันอื่นใดในโลกเสมอเหมือน ทั้งนี้เพราะน้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบที่ดีเด่นดังต่อไปนี้
กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acids)กรดไขมันขนาดกลาง ทำให้น้ำมันมะพร้าวไม่ต้องใช้น้ำย่อยและเคลื่อนที่เร็วไปเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ตับจึงไม่สะสมเป็นไขมัน นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้เร่งเมตาบอลิซึม จึงไปเปลี่ยนแคลอรีให้เป็นพลังงานได้สะดวกยิ่งขึ้น มีสารต่อต้านเชื้อโรค (Anti-germs) เช่น ไวรัส และแบคทีเรียที่มีเกราะหุ้ม แต่ไม่ฆ่าจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และไม่เกิดการดื้อยา แต่กลับช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมีสารต่อต้านการเติมออกซิเจน (Antioxidants) จึงไม่มีโอกาสเกิดอนุมูลอิสระเกิดความร้อนเพิ่มขึ้นในร่างกาย (Thermogenesis) น้ำมันมะพร้าวช่วยกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานในอัตราสูงขึ้นจึงเกิดความร้อนเพิ่มขึ้นในร่างกาย ช่วยเผาผลาญอาหารที่กินเข้าไปให้เป็นพลังงานเป็นน้ำมันอเนกประสงค์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เป็นอาหาร ใช้เป็นยารักษาโรค ใช้เป็นเครื่องสำอาง ใช้เป็นแหล่งของพลังงาน ใช้เสริมความสุขทางเพศ และใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย น้ำมันมะพร้าวเป็นแหล่งของพลังงานทางเลือกที่ดีของมนุษย์ เพราะให้พลังงานที่มีคุณภาพและปลอดภัย เราสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นแหล่งของพลังงานของมนุษย์ได้ดังนี้
ให้พลังงานแก่ร่างกาย
ในรูปของน้ำมันมะพร้าว: น้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งเป็นธาตุคาร์บอนเช่นเดียวกับน้ำตาลกลูโคส ร่างกายจึงสามารถใช้เป็นแหล่งของพลังงานได้ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีน้ำตาลกลูโคสหรือร่างกายใช้น้ำตาลกลูโคสไม่ได้ ดังเช่นในกรณีที่เซลล์ต่อต้านอินซูลิน (Insulin resistance) ไม่ยอมให้อินซูลินพาน้ำตาลเข้าไปในเซลล์หรือในกรณีที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ในกรณีดังกล่าว น้ำมันมะพร้าวสามารถใช้ทดแทนน้ำตาลได้ โดยการเปลี่ยนเป็นพลังงานในตับเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มพลังให้แก่นักกีฬาอย่างรวดเร็วระหว่างหยุดพัก
ในรูปของสารคีโตน (Ketone): การเกิดสารคีโตนเกิดได้ 2 วิธีคือ หนึ่ง จากไขมันที่สะสมไว้ในร่างกาย เมื่อเกิดภาวะที่หลอดเลือดมีระดับน้ำตาลต่ำ ไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมัน (Fatty Acids) และเคลื่อนย้ายไปยังตับ และถูกตับเปลี่ยนให้เป็นสารคีโตน ซึ่งเป็นสุดยอดของอาหารที่ให้พลังงานแก่เซลล์ สอง จากไขมันในน้ำมันมะพร้าวที่บริโภคเข้าไป หากมีการบริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไปในร่างกาย ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ขนาดกลาง (Medium Chain Triglycerides-MCTs) ในน้ำมันมะพร้าวจะเคลื่อนย้ายไปยังตับอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องอาศัยน้ำดี และไปเปลี่ยนเป็นสารคีโตนที่เซลล์นำไปใช้เป็นพลังงาน กลไกของการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงานโดยใช้ MCTs เปลี่ยนให้เป็นคีโตนเกิดขึ้น เพราะร่างกายใช้ MCTs แทนคาร์โบไฮเดรต วิธีนี้ช่วยให้พลังงานจากคีโตนเข้าไปสู่กระแสเลือดโดยปราศจากการใช้อินซูลิน นั่นคือ MCTs เป็นไขมันที่ทำหน้าที่คล้ายคาร์โบไฮเดรต โดยการเป็นเชื้อเพลิงให้แก่เซลล์
ให้พลังงานแก่สมอง
ตามปกติน้ำตาลกลูโคสเป็นตัวจัดหาพลังงานให้แก่เซลล์สมอง แต่เมื่อหลอดเลือดเข้าสู่สมองถูกอุดตันจากการเกิดการอักเสบเรื้อรัง และการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่เกินพอ ทำให้สมองทำงานช้าลงเพราะขาดเชื้อเพลิง ส่งผลให้การเจริญเติบโตและการพัฒนาหยุดชะงัก และความจำที่สะสมไว้ก็สูญหายไปเมื่อเซลล์สมองขาดพลังงาน และต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ในสถานการณ์ดังกล่าว สารคีโตนจะถูกสร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสุดยอด (Super Fuel) ของสมอง ทดแทนที่ได้จากน้ำตาลกลูโคส
วิธีกินน้ำมันมะพร้าว 
          ความพิเศษของน้ำมันมะพร้าวอยู่ตรงที่เราสามารถตวงกับช้อนแล้วกิ­นได้เลย หรือจะนำไปปรุงเป็นเมนูคาวหวานก็ได้ แม้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะกินแล้วดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องปริมาณการบริโภค รวมถึงต้องปรับพฤติกรรมการกินควบคู่ไปด้วย มิเช่นนั้น อาจให้ผลตรงกันข้าม 
          สำหรับวิธีการกินน้ำมันมะพร้าวที่เหมาะสมนั้น อาจยึดหลักจากน้ำหนักตัว ดังนี้ 
          - น้ำหนักตัว 30-40 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถบริโภคได้ไม่เกิน 0.5 ช้อนโต๊ะต่อวัน 
          - น้ำหนักตัว 40.1-60 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถบริโภคได้ไม่เกิน 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน 
          - น้ำหนักตัว 60.1-80 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถบริโภคได้ไม่เกิน 1.5-2 ช้อนโต๊ะต่อวัน 
          - น้ำหนักตัว 80.1 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถบริโภคได้ไม่เกิน 2.5-3 ช้อนโต๊ะต่อวัน 
          - เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ไม่เกินวันละ 1-2 ช้อนชา 
          - ผู้สูงอายุรับประทานไม่เกินวันละ 1-2 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ 
          ทั้งนี้ การกินน้ำมันมะพร้าวภายในครั้งเดียวร่างกายอาจรับไม่ได้ ดังนั้น ควรจะแบ่งทานเป็น 3 เวลา นอกจากนี้อาจรวมถึงการนำน้ำมันมะพร้าวไปเป็นส่วนหนึ่งในการปรุงประกอบอาหาร เช่น นำไปผัดอาหารแทนน้ำมันชนิดอื่น ๆ 
          อย่างไรก็ดี ควรเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
น้ำมันมะพร้าว มีข้อเสียไหม 
          ตามกลไกของร่างกายแล้ว การกินน้ำมันวันละประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะนั้น ถือเป็นปริมาณที่ร่างกายสามารถกำจัดออกได้หมด คำแนะนำส่วนใหญ่จึงถือว่าการกินน้ำมันมะพร้าววันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เป็นปริมาณที่เหมาะสม 
          อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วยว่ารับพลังงานไขมันจากแหล่งอื่นมากน้อยแค่ไหน โดยคำแนะนำคือปริมาณบริโภคเมื่อรวมกับน้ำมันและไขมันในอาหารชนิดอื่น ๆ แล้ว ไม่เกินวันละ 3-4 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 60 กรัม ดังนั้น หากเป็นคนที่ได้รับน้ำมันและไขมันจากอาหารชนิดต่าง ๆ แล้ว 2 ช้อนโต๊ะ ก็สามารถบริโภคน้ำมันมะพร้าวได้อีกไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ หรือถ้าเป็นคนที่ทานมังสวิรัติ ไม่รับประทานนม ไข่ ชีส หรือน้ำมันอื่น ๆ ก็อาจทานน้ำมันมะพร้าวได้มากขึ้น 
          ดังนั้น ทางที่ดีควรพิจารณาจากความเหมาะสมของสุขภาพตัวเอง เพราะถ้าหากทานเกินกว่าความต้องการของร่างกาย ร่างกายกำจัดออกไม่หมด ก็เกิดการสะสมได้ไม่ต่างจากไขมันประเภทอื่น 
น้ำมันมะพร้าว ทาหน้าได้ไหม 
          น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นสามารถนำมาทาหน้าได้ เพียงแต่มีข้อควรรู้ในการใช้อยู่บ้าง ควรใช้น้ำมันมะพร้าวทาหน้าอย่างไร ให้ได้หน้าขาวใส อย่างใจต้องการ 
          - ทาตอนกลางคืนดีกว่ากลางวัน เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติอุ้มแสง อาจทำให้ผิวหน้าเราคล้ำลงบ้าง แต่สีผิวก็จะสม่ำเสมอกัน เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติกระจายแสง 
          - สามารถผสมกับไนท์ครีมที่ใช้อยู่เป็นประจำได้ โดยการหยดน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 หยดผสมกับไนท์ครีมที่ใช้อยู่ประจำ จะช่วยเก็บล็อกความชุ่มชื้นให้ผิวยามหลับได้ดี 
          - หากเป็นคนผิวหน้ามัน และผิวแพ้ง่าย ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะยิ่งทำให้สิวขึ้นเห่อ 
          - ใช้มาร์กหน้าเพิ่มความชุ่มชื้นได้ นำสำลีชุบน้ำอุ่นบีบให้หมาด แล้วหยดน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 หยดบนสำลี เช็ดเบา ๆ ให้ทั่วใบหน้าโดยไม่ต้องล้างออก 
น้ำมันมะพร้าว ทำอาหารได้ไหม 

           น้ำมันมะพร้าวสามารถนำไปปรุงอาหารได้เหมือนกับน้ำมันชนิดอื่น โดยที่เราไม่ต้องกังวลว่ากินแล้วจะทำให้คอเลสเตอรอลในร่างกายเพ­ิ่มขึ้น เพราะน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายปานกลาง เมื่อรับประทานแล้วจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทันที ร่างกายดึงไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ดี นอกจากนี้แล้วเรายังสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวแทนเนย และมาการีน ที่จะช่วยเพิ่มความหอมอร่อยให้กับเมนูอาหารนั้น ๆ น่ารับประทานขึ้นอีกด้วย 
น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น วิธีการทำที่หลายคนอยากรู้ 
          เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นราคาแพง ๆ แพ็กเกจสวย ๆ ในซุปเปอร์มาร์เกตนั้น มีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง แล้วเราสามารถทำเองได้ไหม เราขอตอบเลยว่า ทำได้ ลองทำตามสูตรนี้เลย 
          1. เก็บมะพร้าวงอก หรือมะพร้าวที่มีจาว 
          2. นำมะพร้าวที่ขูดได้ ผสมน้ำเปล่า ในอัตราส่วน หัวกะทิ 1 กิโล ต่อน้ำ 1 ลิตร เพื่อนำไปคั้นเป็นน้ำกะทิ 
          3. นำน้ำกะทิมากรองใส่ถัง แล้วผสมกับน้ำกะทิที่ได้ คนให้เข้าเนื้อกัน 
          4. ครอบฝาโดยการแง้มไว้ อย่าปิดแน่น ทิ้งไว้ประมาณ 14 - 20 ชั่วโมง หรือประมาณ 1 คืนกว่า ๆ เพื่อให้กะทิ และน้ำมันแยกชั้น โดยส่วนที่เราต้องการคือ ตรงกลาง เป็นส่วนของน้ำมัน 
          5. เอาน้ำที่แยกชั้นอยู่ด้านล่างออก โดยการดูดด้วยสายยางขนาดเล็ก กรณีใส่ถังที่มีก๊อกก็ปล่อยน้ำส่วนล่างออก 
          6. ใช้ช้อนตักส่วนที่เป็นขี้มันด้านบนออก แล้วตักน้ำมันมะพร้าวแยกไว้ต่างหาก ส่วนน้ำมันที่เหลือชั้นล่างสามารถนำไปทำน้ำมันเกรดสอง หรือใช้ในการประกอบอาหาร 
          7. ตักส่วนที่เป็นน้ำมันออกมา นำไปกรองด้วยกระชอน 2 ใบซ้อนกัน แต่การซ้อนของกระชอน จะต้องรองด้วยกระดาษทิชชูที่มีความหนาเล็กน้อยซ้อนกันประมาณ 6 ชั้น ส่วนที่ไหลผ่านกระชอนก็คือ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น 
          8. นำไปบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท 
การเก็บรักษาน้ำมันมะพร้าว 
          น้ำมันชนิดอื่น ๆ หากนำไปแช่ตู้เย็น ก็ยังคงสภาพเป็นของเหลว แต่สำหรับน้ำมันมะพร้าวนั้นสามารถแข็งตัวได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า­ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งวิธีการเก็บรักษาน้ำมันมะพร้าวไม่ให้เสียเร็วก่อนวันหมดอาย­ุ หรือ มีกลิ่นหืน ก็ควรจะบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท เก็บในอุณหภูมิห้อง และไม่ควรโดนแสงแดดกรณีนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นแล้วเป็นไข ก็สามารถทำให้ละลายได้โดยการอุ่นด้วยความร้อน 
น้ำมันมะพร้าวที่เสียแล้ว เป็นอย่างไร 
          วิธีการสังเกตน้ำมันมะพร้าวที่เสียแล้วนั้นง่ายมาก คือ สีจะเปลี่ยนจากใสกลายเป็นเหลืองอ่อน ๆ หรือมีความขุ่น มีการตกตะกอน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้น้ำมันมะพร้าวเสียเร็วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าการเก็บรักษาหลังการใช้ เช่น ปิดฝาไม่สนิท มีสิ่งเจือปนอื่น ๆ เก็บในที่ที่มีแสงแดดส่องเป็นเวลานาน เป็นต้น 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
จากเอกสารวิชาการฉบับที่ 3 /2558 น้ำมันมะพร้าวสุดยอด โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าว
แห่งประเทศไทย
ขอบคุณรูปภาพจาก www.google.com

โรคผิวหนังจากการทำงาน

        โรคผิวหนังเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสี่ของประเทศ   เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง...