วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

หน้าแรก

โรคมือ เท้า ปาก
โรคเกลื้อน
โรคหอบหืด
โรคปอด
โรคเกาต์


กรุณาคลิกดูวิดิทัศน์ด้านล่าง

รู้จักกับโรคผิวหนัง(Skin Disease)

         เป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดที่ห่อหุ้มทุกส่วนของร่างกาย แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกเรียกว่า หนังกำพร้า(Epidermis) และชั้นในซึ่งเรียกว่า หนังแท้ (Dermis) ผิวหนังเป็นเนื้อเยื่อที่บอบบางมีความหนาตั้งแต่ 0.05 มิลลิเมตร (มม.) ไปจนถึง 1.5 มม. ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเป็นผิวหนังในส่วนใดของร่างกาย ซึ่งผิวหนังที่บางที่สุดคือ หนังตา ส่วนผิวหนังที่หนาที่สุดคือ ผิวหนังส่วนส้นเท้า หนังกำพร้า ประกอบด้วยเซลล์ส่วนใหญ่เป็นเซลล์ชนิดที่ผลัดตัวลอกได้เมื่อเป็นเซลล์ตัวแก่คือ เซลล์ชนิดเนื้อเยื่อบุผิว(Epithelium) นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเซลล์สำคัญอีกสองชนิดคือ เซลล์ชนิดเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากแสงแดด โดยมีเม็ดสีเพื่อดูดซับรังสียูวี (UV radiation) และเซลล์ชนิด    
เมอร์เคล (Merkel cell) ซึ่งเป็นเซลล์รับสัมผัสจากการกดเบียดทับหรือการสัมผัสอย่างเบาๆ ทั้งนี้เซลล์ทั้งสามชนิดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ตามชนิดต่างๆของเซลล์เหล่านั้นคือ มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (เกิดจากเซลล์ชนิดเมลาโนไซต์) ที่มีความรุนแรงโรคสูง ชนิดเมอร์เคล (เกิดจากเซลล์ชนิดเมอร์เคล) ที่มีความรุน แรงโรคปานกลาง และชนิดเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว ซึ่งมีความรุนแรงโรคต่ำกว่ามะเร็งทั้งสองชนิดที่กล่าวแล้ว
         นอกจากนั้นในหนังกำพร้ายังมีเซลล์ชนิดช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อผิวหนังและต่อร่างกายด้วยเรียกว่า เซลล์ลานเกอร์ฮานส์ (Langerhans cellหนังแท้ ประกอบด้วยเซลล์สำคัญคือ เซลล์ในกลุ่มเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue) เช่น เซลล์ไฟ โบรบลาส (Fibroblast) ซึ่งสร้างคอลลาเจนและเพื่อคงการยืดหยุ่น ความแข็งแรง และรูปทรงของผิวหนัง นอกจากนั้นยังประกอบด้วยหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง และเส้นประสาทต่างๆในหนังแท้ยังมีต่อมต่างๆหลายชนิดเพื่อสร้างไขมัน สร้างเหงื่อ สร้างกลิ่น และสร้างขน เพื่อการหล่อเลี้ยง ปกป้องผิวหนังช่วยผิวหนังในการทำหน้าที่ต่างๆ และช่วยร่างกายขับของเสียออกทางเหงื่อ

หน้าที่ของผิวหนัง
1.ปกป้องเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในทั้งหมดจากการไม่ดูดซึมสารแปลกปลอมที่ร่างกายไม่ต้องการหรือที่เป็นพิษต่อร่างกาย
2.ช่วยคงรูปร่างของร่างกาย
3.ปกป้องร่างกายจากแสงยูวีจากแสงแดด
4.ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่ จากการขับเหงื่อและจากการขยายหรือ หดตัวของหลอดเลือด
5.ช่วยร่างกายกำจัดของเสียออกทางเหงื่อ
6.ช่วยร่างกายสร้างวิตามิน ดี โดยสังเคราะห์จากแสงแดด
7.รับความรู้สึกต่างๆเช่น หนาว ร้อน เจ็บ การกระแทก
8.ป้องกันร่างกายจากการรุกรานของเชื้อโรคและสารต่างๆ และยังสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคทั้งของผิวหนังเองและของร่างกาย

        โรคผิวหนัง (Skin Disease) หมายถึง โรคที่ทำให้ลักษณะของผิวหนังมีผื่น ตุ่ม วงด่างขาว หรือเป็นก้อนขึ้นตามร่างกาย สามารถมองเห็นได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดหรือคันร่วมด้วย สาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ การติดเชื้อ การใช้ยา ปรสิต อาการแพ้หรือเกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ เป็นต้น โรคชนิดนี้ถือเป็นโรคที่ไม่รุนแรง มักพบเกิดขึ้นทั้งในส่วนของหนังกำพร้า (Epidermis) และหนังแท้ (Dermis) บางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคผิวหนังบางชนิดมีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน แต่มีสาเหตุต่างกัน เช่น โรคผิวหนังอักเสบจะมีลักษณะเหมือนโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้ แต่เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน

สาเหตุการเกิดโรคผิวหนัง
โรคผิวหนังเกิดได้จากมากมายหลายสาเหตุที่พบบ่อยคือ
1.ต่อมต่างๆของผิวหนังอุดตันและ/หรือติดเชื้อเช่น เป็นสิว
2.การติดเชื้อซึ่งติดเชื้อได้ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา เช่น ฝีต่างๆ กลาก เกลื้อน โรคเริม โรคงูสวัด โรคไฟลามทุ่ง
3.จากโรคออโตอิมมูน/ภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) เช่น โรคพุ่มพวง/โรค เอสแอลอี(โรคลูปัส/Lupus)
4.จากโรคภูมิแพ้เช่น ผื่นคันจากการสัมผัสขนสัตว์หรือเกสรดอกไม้
5.จากการแพ้สารต่างๆเช่น ผื่นจากการแพ้ยา
6.จากการขาดวิตามินบางชนิดเช่น การขาดวิตามิน บี 3
7.จากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ผิวหนังจึงติดเชื้อได้ง่ายเช่น ในโรคเอดส์
8.จากโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของผิวหนังเช่น โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคแผลเป็นนูน
9.จากผลของฮอร์โมนเช่น การขึ้นฝ้าในคนท้อง
10.จากสูงอายุ (เซลล์ผิวหนังเสื่อมตามอายุ) เช่น กระในผู้สูงอายุ
ไฝ ต่างๆ
11.โรคทางพันธุกรรมเช่น ปานผิวหนังชนิดต่างๆ (เช่น ปานแดงในเด็กเล็ก)
12.จากการถูกแสงแดดจัดเรื้อรัง ซึ่งนอกจากเป็นปัจจัยให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมก่อนวัยแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังด้วย

อาการของโรคผิวหนัง
        อาการของโรคผิวหนังขึ้นกับสาเหตุที่อาจพบได้เช่น ผิวหนังขึ้นผื่น เป็นจุดหรือเป็นดวง เป็นปื้น เป็นผื่นนูน เป็นแผ่น เป็นตุ่มเนื้อ เป็นตุ่มน้ำ เป็นตุ่มเลือด เป็นตุ่มพอง เป็นตุ่มหนอง เป็นติ่งเนื้อ เป็นถุงน้ำ เป็นแผล เป็นแผลเปื่อย เป็นแผลแตก เป็นแผลรอยแยก ภาวะหลอดเลือดฝอยพอง ปาน ไฝ หูด (โรคหูดก้อนเนื้อ และ/หรือแผลเรื้อรัง ทั้งนี้อาจร่วมกับอาการบวม แดง คัน และ/หรือสีของผิวหนังผิดปกติเช่น สีคล้ำ สีออกแดง/ชมพู หรือสีออกม่วง ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ

การวินิจฉัยโรคผิวหนัง
        แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจความผิดปกติของผิวหนัง ทั้งลักษณะผื่นหรือตุ่มหรือก้อนเนื้อ รูปร่าง สี และตำแหน่งที่เกิดโรค รวมทั้งการสอบถามถึงอาการร่วมต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจมีการขูดผิวหนังตรวจส่องกล้องจุลทรรศน์ดูการติดเชื้อ หรือดูลักษณะของเซลล์ (การตรวจทางเซลล์วิทยา) หรือการเพาะเชื้อ อาจมีการตรวจเลือดตามสาเหตุที่แพทย์สงสัยเช่น ผื่นในโรคเอดส์ และบางครั้งอาจตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษาโรคผิวหนัง
        การรักษาโรคผิวหนังขึ้นกับสาเหตุเช่น การรักษาความสะอาดเมื่อเกิดจากสิว การกินยา/ทายาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากติดเชื้อและการรักษาด้วยการผ่าตัดเมื่อเป็นโรคมะเร็ง

ความรุนแรงของโรคผิวหนัง
        ความรุนแรงของโรคผิวหนังขึ้นกับสาเหตุเช่น ไม่รุนแรงเมื่อเป็นสิว หรือรุนแรงมากเมื่อเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

การดูแลผิวหนังและควรพบแพทย์เมื่อไร

        การดูแลผิวหนังโดยทั่วไปและการพบแพทย์คือ
1.รักษาความสะอาดผิวหนังเสมอโดยการใช้สบู่ที่อ่อนโยน
2.ปกป้องผิวหนังจากแสงแดดเมื่อต้องโดนแดดจัดหรือทำงานกลางแจ้งเช่น ใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวกปีกกว้าง และ/หรือทายากันแดด
3.กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวัน เพิ่มผักและผลไม้ เพื่อชะลอผิวเสื่อมก่อนวัย
4.เลือกเครื่องสำอางและเครื่องใช้ต่างๆชนิดที่อ่อนโยนต่อผิวเช่น ครีมบำรุงผิว น้ำยาโกนหนวด รวมทั้งยาสีฟัน และทิชชูทำความสะอาด
5.หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด ผิวจะแห้งมาก ผิวเสื่อมได้ง่าย
6.เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ทำลายเซลล์ผิวหนังและยังเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบ ผิวหนังจึงเสื่อมง่ายจากขาดเลือด
7.เรียนรู้ชีวิต ควบคุมความเครียด เพราะเป็นสาเหตุของสิวและผิวหน้าย่นได้ก่อนวัย
8.หลีกเลี่ยงสารที่ก่ออาการแพ้ต่อผิวหนัง
9.รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนัง
10.สังเกตผิวหนังตนเองเสมอเช่น ขณะอาบน้ำและแต่งตัว เมื่อพบสิ่งผิดปกติควรพบแพทย์
11.การพบแพทย์เมื่อผิวหนังผิดปกติไปจากเดิมและไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เสมออาจเป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์โรคผิวหนังก็ได้ หรือเมื่อมีความกังวลในการผิด ปกติของผิวหนัง ทั้งนี้เพราะโรคผิวหนังเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุดังกล่าวแล้วตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงโรครุนแรงอย่างโรคมะเร็ง
อนึ่ง อาการสำคัญของมะเร็งผิวหนังคือ มีแผลเรื้อรัง แผลไม่หายหลังจากดูแลตนเองภาย ใน 2 สัปดาห์ หรือมีก้อนเนื้อโตเร็ว หรือเป็นไฝ/ปาน โตเร็ว ขอบไม่เรียบ ฝังตัวลึกในผิวหนัง และแตกเป็นแผลเลือดออกเรื้อรัง ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์เสมอ

การป้องกันโรคผิวหนัง
วิธีป้องกันโรคผิวหนังเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเองและการป้องกันมะเร็งผิวหนัง ซึ่งที่สำคัญคือ

1.หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดเรื้อรัง


2.กินอาหารมีประโยชน์ หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน


3.ดูแลรักษาความสะอาดผิวหนังเสมอ


4.สังเกตและหลีกเลี่ยงสารต่างๆที่ก่อการระคายเคืองหรือก่ออาการแพ้ต่อผิวหนัง




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.google.com



โรคผิวหนังจากการทำงาน

        โรคผิวหนังเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสี่ของประเทศ   เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง...